สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เดินหน้าปั้นนักวางแผนการเงินเข้าสู่ระบบ ยันการวางแผนการเงินเป็นเรื่องจำเป็นของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนรวย!!
เปิดแผนงานปี 68 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เดินหน้าจับมือพันธมิตร ปั้นนักวางแผนการเงิน และที่ปรึกษาการเงินเพิ่ม เร่งแก้ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการวางแผนการเงินว่าเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น!! ยันเป็นเรื่องจำเป็นของทุกคน หากต้องการมีอิสรภาพทางการเงินและความมั่นคง
นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดเผยถึงทิศทางและแผนงานของสมาคม นักวางแผนการเงินไทย ปี 2568 ว่าจะมุ่งส่งเสริมและเพิ่มจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP® และเดินหน้าให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินให้กับคนไทยทุกช่วงวัย โดยเริ่มตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา ไปจนถึงวัยเกษียณ ดังนี้
1.การส่งเสริมและเพิ่มจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP
1.1 ทำโครงการ Road to CFP® Professional เส้นทางสู่อาชีพนักวางแผนการเงิน สนับสนุนให้มีหลักสูตร การเรียนการสอนเรื่องวางแผนการเงินในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้รับคุณวุฒิที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ ซึ่งเป็นคุณวุฒิขั้นต้นของการเป็นนักวางแผนการเงิน และเป็นมาตรฐานที่สถาบันการเงินให้การยอมรับ โดยมอบทุนสอบให้กับนักศึกษา ใน 8 มหาวิทยาลัย
1.2 ร่วมกับสมาชิกนิติบุคคลของสมาคมฯ เร่งสร้างนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT เพื่อรองรับความต้องการ ด้านการวางแผนการเงินในกลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน เพื่อให้ได้รับบริการจากเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้เรื่องการวางแผนการเงินแบบองค์รวม (Holistic Advisory) เช่น ร่วมมือกับธนาคารทิสโก้ ยกระดับการให้คำแนะนำด้านการวางแผนการเงิน โดยผู้เชี่ยวชาญระดับสากลที่มีคุณวุฒินักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT เปลี่ยนมุมมองด้านการวางแผนการเงินว่าเป็นแค่การลงทุนเพียงด้านเดียว และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเป็นรายตัวให้ตั้งเป้าหมายและวางแผนการเงินแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านการวางแผนการลงทุน ประกันภัย การวางแผนภาษี และการวางแผนส่งต่อมรดก การวางแผนก่อน และหลังเกษียณ
2.ให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ ถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน
2.1 ทำโครงการ Workshop การวางแผนการเงินสำหรับมนุษย์เงินเดือน“Happy Salaryman มนุษย์เงินเดือน เงินดี มีสุข” ส่งเสริมพนักงานให้มีความรู้และเริ่มลงมือตั้งเป้าหมาย สามารถวางแผนการเงินให้มีความมั่นคงทางการเงินและพร้อมเกษียณได้อย่างมีความสุข โดยเริ่มต้นจากพนักงานในองค์กร และข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ที่แม้มีรายได้ประจำ แต่เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงหลายปัจจัย จำเป็นต้องวางแผนการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินในแต่ละช่วงชีวิต
2.2 ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต.ให้ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินสำหรับคนวัย 50+ เพื่อเตรียมพร้อมเกษียณอย่างมั่งคั่งมั่นคงและมีความสุข
2.3 ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแพร่ความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง นอกจากนี้ยังเตรียมแผนส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้เรื่องการวางแผนการเงินหลังเกษียณ โดยเตรียมเปิดหลักสูตร Post Retirement Specialist เพื่อวางแผนการเงินและชีวิตหลังเกษียณรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ของคนไทย
3. ร่วมกับแบงก์ชาติจัดอบรมหมอหนี้อาสา ให้กับนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT เพื่อช่วยแก้หนี้ให้กับคนไทย ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
นายวิโรจน์กล่าวว่า ผู้ที่มีรายได้ทุกคน จำเป็นต้องวางแผนการเงิน เพราะทุกอย่างรอบตัวล้วนเกี่ยวข้อง กับเงินในกระเป๋าของเราทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดแก่เจ็บตาย ค่าทำคลอด ค่าเทอมการศึกษา ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงาน มีลูก จนถึงการเตรียมเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนในชีวิตอื่นๆ ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ความไม่แน่นอนในการงานและธุรกิจ จนถึงบั้นปลายชีวิต ทุกอย่างต้องใช้เงิน ขณะที่ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ล้วนปรับตัวขึ้นทุกปี รวมทั้งราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสี่ โดยข้อมูลอ้างอิงจากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและดัชนีราคาที่ดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ย้อนหลัง 10 ปี พบว่าปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 28-46%
“เพราะเงินเรามีจำกัด ดังนั้นทุกคนที่เป็นผู้มีรายได้ จำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทางการเงิน สร้างความมั่นคงในชีวิต และนำไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน และมีความมั่งคั่งมั่นคง สามารถใช้ชีวิตในยามเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ นักวางแผนการเงินจะช่วยทำโรดแมป เพื่อช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการเงินในแต่ละช่วงเวลาได้” นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ยังกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า ประเทศไทยหรือคนไทย ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า นักวางแผนการเงินมีไว้สำหรับให้คนรวยเท่านั้น ส่งผลให้ในอดีตมีการใช้บริการนักวางแผนการเงินน้อยมาก แม้ปัจจุบันจะมีการใช้บริการเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีรายได้ทุกคน จำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงิน ทั้งวางแผนการใช้จ่าย วางแผนการออม วางแผนป้องกันความไม่แน่นอน วางแผนการลงทุน วางแผนภาษี และวางแผนเพื่อชีวิตยามเกษียณ เพราะในทุกช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตจำเป็นต้องใช้เงิน ทั้งนี้ จากผลสำรวจผู้ใช้บริการใน 15 ประเทศทั่วโลก พบว่า 84% ของลูกค้าที่ใช้บริการ เห็นว่าการใช้บริการกับนักวางแผนการเงิน CFP ให้ประโยชน์คุ้มค่าเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้นักวางแผนการเงิน
นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดว่า นักวางแผนการเงินมีผลประโยชน์แฝง ไม่ได้ให้คำแนะนำที่ควรจะเป็น แต่ต้องการเพียง “ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” ที่แนะนำเท่านั้น ซึ่งในความจริงแล้ว 98%ของลูกค้าที่ได้รับคำแนะนำจากนักวางแผนการเงินCFP ไว้ใจว่า นักวางแผนการเงิน CFP คำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้าได้ผลตอบแทนบรรลุตามเป้าหมายของแผนการเงินที่วางไว้ โดยเรื่องนี้ถือเป็นจรรยาบรรณที่สำคัญและกำหนดไว้ เป็นข้อแรก ที่นักวางแผนการเงินทุกคนต้องยึดปฏิบัติ ที่ต้องให้คำแนะนำในการวางแผนการเงิน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ ของลูกค้าเป็นหลัก
นายวิโรจน์ยังกล่าวถึง การคิดค่าธรรมเนียมของนักวางแผนการเงินว่า มี 4 แบบ ดังนี้ 1.Fixed fee คิดค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเงินต่อแผนต่อปี
2.ไม่มีค่าธรรมเนียม แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าลงทุนหรือซื้อจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์
3.คิดค่าธรรมเนียมแบบผสม เช่น คิดค่าแผน 5,000 บาทต่อปีจากลูกค้าและได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าลงทุนหรือซื้อจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์
4.คิดค่าธรรมเนียมตามมูลค่าทรัพย์สิน เช่น 3% ของมูลค่าทรัพย์สินที่แนะนำต่อปี
ที่สำคัญ ไม่ว่านักวางแผนการเงินจะคิดค่าธรรมเนียมแบบใด ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงวิธีการคิดค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนก่อน และลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะไม่ใช้บริการ หากไม่ต้องการจ่ายค่าธรรมเนียม ตามวิธี ที่นักวางแผนการเงินคิด เนื่องจากเป็นจรรยาบรรณที่นักวางแผนการเงิน CFP ต้องปฏิบัติ
“2 ปัจจัยนี้ทำให้คนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าใช้บริการนักวางแผนการเงิน CFP สมาคมฯ จึงอยากเชิญชวนให้ลองคุยกับนักวางแผนการเงินก่อน จะใช้หรือไม่ใช้บริการค่อยตัดสินใจ แต่อย่าด่วนตัดสินว่าคุณยังไม่พร้อมกับการวางแผนการเงิน เพราะการวางแผนการเงิน เริ่มยิ่งเร็วยิ่งดี ทำให้วางแผนชีวิตได้ตามเป้าและมองเห็นชีวิตที่คุณต้องการได้ชัดเจนขึ้น”
นายวิโรจน์กล่าวว่า ดังนั้นในโอกาสนี้ สมาคมฯ จึงจัดให้ประชาชนที่สนใจปรึกษาและรับคำแนะนำเรื่องวางแผนการเงินกับนักวางแผนการเงิน CFP ฟรี 1 ชม.ผ่านออนไลน์ วันที่ 24 พ.ค.68 รอบเวลา 10.00 -11.00 น. และรอบ 11.15 – 12.15 น. จำกัดเพียงรอบละ 20 คน ลงทะเบียนรับสิทธิ์ที่ LineID @CFPthailand ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 16 พ.ค.68 หรือจนกว่าจะครบสิทธิ์!!!!
นายวิโรจน์ ยังเปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันนักวางแผนการเงิน CFP มีเครือข่ายสมาชิกอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ณ 31 ธ.ค.67 มีจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 230,648 คน โดยมีอัตราการเติบโต 3.1% หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 6,878 คน ขณะที่ประเทศไทยมีนักวางแผนการเงิน CFP 703 คน มีอัตราการเติบโตสูงถึง 18.5%เพิ่มขึ้นสุทธิ 110 คน โดยเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก เพราะคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจและเรียนรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP 703 คน สูงเป็นอันดับที่ 19 จาก 26 ประเทศ ตามหลังสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับที่ 18 ที่มีนักวางแผนการเงิน CFP 887 คน และมาเลเซีย ที่อยู่อันดับที่ 14 มีนักวางแผนการเงิน CFP 2,615 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP สูงสุดเป็นอันดับ 1 มีจำนวน 103,093 คน จะเห็นว่า ประเทศไทยยังต้องการนักวางแผนการเงิน CFP อีกมากเมื่อเทียบจำนวนนักวางแผนการเงิน CFP กับสัดส่วนประชากรไทย เป็นโอกาสของคน ที่มองหาอาชีพที่มีความมั่นคง มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ไม่มีเพดานจำกัด สามารถทำควบคู่กับงานประจำ และไม่มีกำหนด อายุเกษียณ
4434