พิชัย ติดตามมาตรการดูแลข้าว-มัน-ข้าวโพด' เตรียมความพร้อมระบาย 'ทุเรียน'
พิชัย ประชุมร่วมกรมการค้าภายใน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร เผยข้าวได้จัดตลาดนัดข้าวเปลือก ช่วยดึงราคา ทั้งนาปี นาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สนับสนุนสินเชื่อรวบรวม บริหารจัดการการนำเข้า มันสำปะหลัง เปิดจุดรับซื้อ เชื่อมโยงใช้มัน ส่วนทุเรียน เตรียมมาตรการไว้พร้อมแล้ว ทั้งส่งออกจีน ระบายในประเทศ จับมือเกษตรคุมเข้มสารตกค้าง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร และความคืบหน้าการขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือสินค้าเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านการตลาด การลดต้นทุน และการรักษาเสถียรภาพราคา โดยเน้นพืชสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้
สำหรับ สินค้าข้าว ได้มีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเพื่อดึงราคาข้าวเปลือก โดยข้าวนาปรัง ได้จัดตลาดนัดข้าวเปลือกเปิดจุดรับซื้อใน 9 จังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และเชียงราย รวม 21 ครั้ง มีการซื้อขายในราคาสูงกว่าตลาด 100-200 บาทต่อตัน รวมปริมาณซื้อขายกว่า 14,000 ตัน มูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ส่วนข้าวนาปี ที่หมดฤดูกาลไปแล้ว จัดใน 24 จังหวัด 32 ครั้ง ซื้อขายกว่า 422,000 ตัน มูลค่ากว่า 254 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของข้าวนาปี ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขาย ให้เงินช่วยเหลือ 1,500 บาทต่อตัน แก่ชาวนาที่มียุ้งฉาง มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 324,000 ราย รวมปริมาณข้าวที่รับฝากกว่า 2.5 ล้านตัน การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3.5% จากอัตรา 4.5% เพื่อสนับสนุนสหกรณ์ที่รวบรวมข้าวไว้ในระบบ มีการรวบรวมผลผลิตแล้วกว่า 580,000 ตัน
และชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีที่เก็บสต็อกข้าวรวมสูงสุดกว่า 2.2 ล้านตัน ส่วนการสนับสนุนข้าวนาปีโดยตรง รัฐบาลได้ดำเนินโครงการจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท ให้กับเกษตรกรแล้วกว่า 4.5 ล้านครัวเรือน รวมเป็นเงินกว่า 36,000 ล้านบาท สำหรับข้าวนาปรัง ที่ผ่านการพิจารณาของ นบข.แล้ว อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่จะสิ้นสุดเดือน เม.ย.นี้ รวมทั้ง ได้มีการเตรียมมาตรการลดต้นทุนการผลิตในฤดูถัดไป โดยเฉพาะการลดราคาปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ที่ได้ดำเนินการแล้ว
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ใช้มาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 วงเงินสินเชื่อ 143 ล้านบาท มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงินสินเชื่อ 0.23 ล้านบาท
และยังมีการบริหารจัดการการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษี 0% และการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนต่อการรับซื้อโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน
มันสำปะหลัง มีการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังกว่า 720,000 ครัวเรือน โดยมาตรการเชื่อมโยงเปิดจุดรับซื้อ ซึ่งได้เปิดจุดรับซื้อ 34 จุดใน 8 จังหวัด เพิ่มการใช้มันเส้นและกากมันภายในประเทศ 2.5 ล้านตันหัวมันสด (1 ล้านตันมันเส้น) และชดเชยดอกเบี้ย 3% สำหรับการเก็บสต็อกระยะ 2-6 เดือน รวมถึงส่งเสริมสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มโดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเพียง 4.5%
ส่วนสถานการณ์ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งกำลังเข้าสู่ฤดูกาลผลิต กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 รวม 7 มาตรการหลัก เช่น การตั้งชุดเฉพาะกิจเจรจาการค้ากับจีน การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต การรณรงค์บริโภคภายในประเทศผ่านห้างค้าปลีก ห้างท้องถิ่น รถโมบาย
รวมถึงสถานีโทรทัศน์ การสนับสนุนค่าบริหารจัดการผลไม้เพื่อการส่งออก การส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การสร้างอัตลักษณ์ GI และการเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้าระหว่างผู้ซื้อกับกลุ่มเกษตรกร โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะสามารถรองรับผลผลิตทุเรียนได้รวมกว่า 470,000 ตัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งติดตามสถานการณ์ส่งออกทุเรียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเตรียมการพบปะหารือกับเอกอัครราชทูตจีนในเร็วๆ นี้ เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก และยังได้ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้าง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจกระทบต่อภาพลักษณ์และศักยภาพในการส่งออกทุเรียนของไทยแล้ว